วันนี้ ผมอยากจะพูดถึง
ความไร้เหตุผลที่คาดการณ์ได้
ความสนใจที่ผมมีต่อความไร้เหตุผลเหล่านี้
เริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อนในโรงพยาบาล
ผมถูกไฟครอกอย่างรุนแรง
และถ้าคุณต้องอยู่โรงพยาบาลนานๆ
คุณจะเห็นความไร้เหตุผลมากมายหลายอย่าง
และสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในแผนกแผลไฟไหม้
ก็คือวิธีที่พยาบาลดึงผ้าพันแผลออกจากตัวผม
ถ้าวันนึงคุณต้องให้ใครดึงผ้าพันแผลออกจากตัวคุณ
คุณคงสงสัยว่า วิธีไหนคือวิธีที่ถูกต้อง
ดึงออกเร็วๆ -- ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ความเจ็บปวดรุนแรง --
หรือดึงผ้าพันแผลออกช้าๆ
คุณจะเจ็บนาน แต่ไม่รุนแรง
แล้ววิธีไหนคือวิธีที่ถูกต้องล่ะ?
พยาบาลในแผนกคิดว่าวิธีที่ถูกต้อง
คือแบบแรก ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีจับแน่นๆ แล้วดึง
แล้วเขาก็จับแน่นๆ แล้วก็ดึงอีก
และเพราะว่ากว่าร้อยละ 70 ของร่างกายผมถูกไฟครอก มันจึงใช้เวลากว่าชั่วโมง
คุณคงนึกภาพออก
ผมเกลียดช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสแบบนี้
ผมจึงพยายามใช้เหตุผลบอกพยาบาลว่า
"ทำไมเราไม่ลองวิธีอื่นบ้างครับ?
ทำไมไม่ลองดึงช้าๆ --
อาจจะใช้เวลาสองชั่วโมงแทนที่จะเป็นชั่วโมงเดียว -- ความเจ็บจะได้ลดลง?
คุณพยาบาลบอกผมสองอย่าง
พวกเขาบอกผมว่า พวกเขารู้วิธีการปฏิบัติต่อคนไข้ที่ถูกต้อง --
ว่านี่คือวิธีที่จะทำให้เจ็บน้อยที่สุด --
และยังบอกอีกว่า คำว่า patient (คนไข้ / ความอดทน) ไม่ได้แปลว่า
ให้คำแนะนำหรือก้าวก่าย...
อ้อ นี่ไม่ใช่ในภาษาฮีบรูเท่านั้นนะ
มันมีความหมายอย่างนี้ในทุกๆ ภาษา
ดังนั้น คุณคงรู้ว่า ผมทำอะไรมากไม่ได้
และพวกพยาบาลก็ทำแบบเดิมที่เคยทำต่อไป
สามปีต่อมา เมื่อผมออกจากโรงพยาบาล
ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
และหนึ่งในบทเรียนที่น่าสนใจที่สุดเท่าที่ผมเคยเรียนมา
ก็คือวิธีวิจัยแบบทดลอง
ซึ่งถ้าคุณมีคำถาม คุณสามารถสร้างแบบจำลองของคำถามเหล่านี้
ในรูปแบบที่เป็นนามธรรมบางอย่าง จากนั้นก็ศึกษาหาคำตอบต่อคำถามนั้น
และเราก็จะได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับโลก
นั่นล่ะครับคือสิ่งที่ผมทำ
ผมยังคงสนใจ
ในคำถามเกี่ยวกับการดึงผ้าพันแผลออกจากตัวคนไข้
ในช่วงเริ่มต้น ผมไม่ได้มีเงินมากนัก
ผมเลยไปที่ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง และซื้อคีมของช่างไม้มา
จากนั้น ผมก็พาคนมาที่แล็บ และเอาคีมหนีบนิ้วของพวกเขา
ขบนิ้วพวกเขาจนเจ็บ
(เสียงหัวเราะ)
ผมบีบนิ้วผู้ร่วมการทดลองนานบ้าง สั้นบ้าง
ลองบีบให้เจ็บน้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้น แบบที่เจ็บมากก่อนแล้วน้อยลง
ทั้งมีหยุดพักและไม่หยุด -- มีทุกรูปแบบของความเจ็บ
พอทำให้เขาเจ็บตัวกันแล้ว ผมก็จะถามพวกเขาว่า
เจ็บไหม เจ็บยังไง
หรือถ้าให้เลือกระหว่างความเจ็บสองอย่างหลังสุด
คุณจะเลือกแบบไหน?
(เสียงหัวเราะ)
ผมทำแบบนี้อยู่พักหนึ่ง
(เสียงหัวเราะ)
แล้วจากนั้น, ก็เหมือนกับโครงการวิชาการดีๆ ทั่วไป, ผมได้เงินสนับสนุนมากขึ้น
ผมเลยเปลี่ยนไปใช้เสียง เครื่องช็อคไฟฟ้า --
ผมทำชุดสร้างความเจ็บปวดที่สามารถสร้างความเจ็บปวดให้คนที่สวมใส่ได้มากขึ้นไปอีก
หลังจากทำการทดลองพวกนี้เสร็จ
สิ่งที่ผมเรียนรู้คือ พวกพยาบาลคิดผิด
นี่คือคนที่น่ายกย่องด้วยความตั้งใจที่ดี
และมีประสบการณ์หลากหลาย แต่กระนั้น
พวกเขาเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา
เพราะเราไม่ได้รับรู้ระยะเวลา
แบบเดียวกับที่เรารับรู้ความรุนแรงของความเจ็บปวด
ผมจะเจ็บน้อยลง ถ้าช่วงเวลามันนานขึ้น
และความเจ็บมันรุนแรงน้อยกว่า
เขาควรจะเริ่มดึงผ้าพันแผลที่หน้าของผมก่อน
ซึ่งเป็นที่ที่เจ็บมากที่สุด แล้วค่อยไปแกะที่ขา
ทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งมันจะทำให้ผมรู้สึกเจ็บน้อยลงด้วย
และมันก็จะดีกว่าด้วย
ถ้ามีช่วงพักในช่วงกลางๆ ให้หายเจ็บสักหน่อย
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรทำ
แต่พยาบาลไม่เคยคิดจะทำ
จากจุดนี้ ผมเริ่มคิดว่า
พยาบาลเป็นคนกลุ่มเดียวในโลกหรือเปล่า
ที่ตัดสินใจอะไรผิดพลาด หรือมันเกิดกับคนทั่วไป?
ที่จริงแล้ว มันเกิดขึ้นกับคนทั่วไปครับ
คนเราตัดสินใจผิดพลาดมากมาย
ผมอยากจะยกตัวอย่างหนึ่งของความไร้เหตุผลพวกนี้
นั่นก็คือ การทุจริต
เหตุผลที่ผมยกเอาเรื่องการทุจริตมาพูดก็เพราะมันน่าสนใจ
แต่ผมว่ามันบอกอะไรเราบางอย่าง
เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน
ความสนใจเรื่องการทุจริตของผมเริ่มมาจาก
กรณีของเอนรอนที่เป็นข่าวอื้อฉาวอย่างรวดเร็ว
ผมเริ่มคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้น
นี่มันเป็นเพียงแค่
ปลาเน่าตัวเดียว ที่ทำอะไรแย่ๆ แบบนี้
หรือจริงๆ มันเป็นโรคระบาด
คนมากมายก็ทำแบบเดียวกันนี้
ผมก็เลยออกแบบการทดลองง่ายๆ
ผมทำอย่างนี้ครับ
ถ้าคุณเข้าร่วมการทดลอง ผมจะให้กระดาษคุณหนึ่งแผ่น
กับโจทย์เลขง่ายๆ 20 ข้อที่คุณแก้ได้แน่นอน
แต่ผมจะให้เวลาคุณสั้นๆ แบบทำไม่ทัน
เมื่อห้านาทีหมดลง ผมจะบอกว่า
"คืนกระดาษให้ผม แล้วผมจะจ่ายคุณข้อละหนึ่งดอลลาร์"
ทุกคนทำตามนี้ แล้วผมก็จ่ายให้พวกเขาประมาณสี่ดอลลาร์เป็นการตอบแทน
เฉลี่ยก็คือพวกเขาทำได้สี่ข้อ
กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ผมเปิดโอกาสให้เขาโกง
ผมส่งกระดาษให้ผู้ร่วมการทดลองคนละแผ่น
เมื่อครบห้านาที ผมจะบอกว่า
"ฉีกกระดาษแผ่นนั้น
แล้วเก็บมันใส่ในกระเป๋าหรือเป้ของคุณ
จากนั้นมาบอกผมว่าคุณทำถูกกี่ข้อ"
คราวนี้พวกเขาทำถูกเฉลี่ยเจ็ดข้อแฮะ
นี่แสดงว่ามันไม่ใช่แค่ปลาเน่าไม่กี่ตัว --
หรือคนแค่ไม่กี่คนโกงมากๆ
ในทางกลับกัน มีคนจำนวนมากที่โกงเล็กๆ น้อยๆ ด้วย
ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว
การโกงคือการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนแบบง่ายๆ
เราจะคิดว่า โอกาสที่จะถูกจับได้มีมากแค่ไหน?
จะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่จากการโกง?
และถ้าโดนจับได้จะถูกลงโทษอย่างไร?
จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักเอา
คุณแค่วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนแบบง่ายๆ
คุณก็ตัดสินใจได้แล้วว่าคุณจะก่ออาชญากรรมหรือไม่
ดังนั้น เราพยายามที่จะทดสอบสิ่งเหล่านี้
กับผู้ร่วมการทดลองบางกลุ่ม เราเพิ่มลดจำนวนเงินที่เขามีโอกาสโกงได้
เพื่อดูว่าเขาจะโกงมากน้อยสักแค่ไหน
เราจ่ายตั้งแต่ 10 เซนต์ต่อข้อ, 50 เซนต์,
1 ดอลลาร์, 5 ดอลลาร์, 10 ดอลลาร์ต่อข้อที่ทำถูก
คุณอาจคิดว่า เมื่อจำนวนเงินมากขึ้น
คนก็น่าจะโกงมากขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป
มีคนจำนวนมากที่โกงเฉพาะตอนที่เงินน้อยๆ
แล้วเรื่องโอกาสที่จะโดนจับได้ล่ะ?
ในบางกลุ่มเราให้ฉีกกระดาษแค่ครึ่งเดียว
แปลว่ายังมีโอกาสโดนจับได้
บางกลุ่มเราให้ฉีกทั้งแผ่น
บางคนฉีกทุกอย่าง เดินออกจากห้อง
แล้วไปหยิบเงินเอาเองจากกล่องที่มีเงินอยู่มากกว่า 100 ดอลลาร์
คุณคงคิดว่า เมื่อโอกาสที่จะถูกจับได้ลดลง
พวกเขาจะโกงมากขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
คนจำนวนมากโกงแค่เล็กน้อย
ไม่ได้แปรผันไปตามสิ่งจูงใจทางเศรษฐศาสตร์
เราเลยมาคิดว่า "ถ้าคนไม่ตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ
ตามที่หลักเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าไว้
งั้นมันเกิดอะไรขึ้นล่ะ?"
เราคิดว่ามันน่าจะมีแรงผลักดันสองอย่าง
อย่างแรกคือ เราอยากจะกลับบ้านส่องกระจก
แล้วยังรู้สึกดีกับตัวเองได้อยู่ ดังนั้น เราจึงไม่โกง
ซึ่งถ้าเราโกงแค่เล็กๆ น้อยๆ
เราก็ยังรู้สึกดีกับตัวเองได้อยู่
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า
มันมีขอบเขตการโกงระดับหนึ่งที่เราไม่อยากทำเกินไปกว่านี้
คือ เรายังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จากการโกง
ตราบใดที่มันไม่ไปเปลี่ยนความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเราเอง
เราเรียกมันว่าระดับการโกงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน
แล้วเราจะทดสอบระดับการโกงที่ยอมรับได้นี่อย่างไร?
ที่จริงเราตั้งคำถามว่า จะลดระดับการโกงที่ยอมรับได้ลงอย่างไร?
เราเลยพาคนมาที่ห้องทดลอง แล้วบอกว่า
"วันนี้เรามีงานสองอย่างให้คุณทำ"
เราบอกผู้ร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งว่า
อย่างแรก ให้นึกถึงหนังสือสิบเล่มที่เคยอ่านสมัยมัธยมปลาย
อีกครึ่งหนึ่ง เราให้นึกถึงบัญญัติสิบประการ (คล้ายๆ กับศีลห้า -- ผู้แปล)
แล้วจากนั้นลองเปิดโอกาสให้เขาโกง
ปรากฏว่าคนที่นึกถึงบัญญัติสิบประการ
ซึ่งไม่มีผู้ร่วมการทดลองสักคนที่จำได้ครบทุกข้อ
แต่เราพบว่า คนที่นึกถึงบัญญัติสิบประการ
เมื่อมีโอกาสจะโกงแล้ว ไม่มีใครโกงเลยสักคนเดียว
มันไม่ใช่เพราะคนที่เคร่งศาสนามากกว่า --
หรือจำบัญญัติสิบประการได้มากกว่า จะโกงน้อยกว่า
และคนที่ไม่เคร่งศาสนา --
หรือคนที่แทบจะจำบัญญัติสิบประการไม่ได้ --
จะโกงมากกว่า
แค่พยายามจะนึกถึงบัญญัติสิบประการเท่านั้น
เขาก็หยุดโกง
ที่จริง แม้แต่คนที่ประกาศตัวว่าไม่ได้นับถือพระเจ้า
การให้พวกเขาสาบานต่อพระคัมภีร์ แล้วให้โอกาสที่จะโกง
พวกเขาก็จะไม่โกง
ทีนี้ บัญญัติสิบประการนั้น
ยากที่จะนำไปผนวกกับระบบการศึกษา เราเลยคิดว่า
"แล้วทำไมเราไม่ให้พวกเขาเซ็นชื่อในบัญญัติเกียรติภูมิล่ะ?"
เราก็เลยให้คนลงชื่อใต้ประโยคว่า
"ฉันเข้าใจว่าการตอบแบบสำรวจนี้จะอยู่ภายใต้เกียรติภูมิของ MIT"
เมื่อพวกเขาฉีกกระดาษแล้ว พบว่าไม่มีการโกงใดใดทั้งสิ้น
เรื่องนี้น่าสนใจมากเลยครับ
เพราะที่จริง MIT ไม่มีบัญญัติเกียรติภูมิ
(เสียงหัวเราะ)
เอาล่ะ นั่นคือการลดระดับการโกงที่ยอมรับได้
แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ระดับการโกงที่ยอมรับได้เพิ่มขึ้น?
การทดลองแรก -- ผมเดินไปรอบๆ MIT
เอาโค้กจำนวนหกแพ็คใส่ไว้ในตู้เย็น --
หมายถึงตู้เย็นรวมของนักศึกษาปริญญาตรี
แล้วผมก็กลับมาวัดสิ่งที่เรียกว่า
ช่วงอายุของโค้ก -- มันอยู่ในตู้เย็นได้นานแค่ไหน?
อย่างที่คุณคาด มันอยู่ได้ไม่นานก็มีคนหยิบไป
ทีนี้ ผมเอาธนบัตรหกดอลลาร์ใส่จาน
แล้วก็ทิ้งจานนั้นไว้ในตู้เย็นแบบเดียวกัน
ธนบัตรกลับไม่หายไป
นี่อาจไม่ใช่การทดลองทางสังคมศาสตร์ที่ถูกหลักการนัก
เพื่อให้ได้ผลที่เชื่อถือได้มากขึ้น ผมเลยทำการทดลองแบบเดิม
อย่างที่ผมได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้
หนึ่งในสามของผู้ร่วมการทดลอง เราให้เขาส่งกระดาษคำตอบคืนเรา
อีกหนึ่งในสามให้ฉีกกระดาษทิ้งไป
ให้เขามาหาเราแล้วพูดว่า
"คุณนักวิจัยครับ ผมแก้โจทย์ได้ X ข้อ จ่ายผมมา X ดอลลาร์"
และอีกหนึ่งในสามของคนที่เราให้ฉีกกระดาษคำตอบทิ้ง
ให้เขามาหาเราแล้วบอกว่า
"คุณนักวิจัยครับ ผมแก้โจทย์ได้ X ข้อ จ่ายชิปผมมา X อัน"
เราไม่ได้จ่ายเป็นเงิน เราจ่ายเป็นอย่างอื่น
แล้วเมื่อพวกเขาได้รับอย่างอื่นที่ว่า เขาต้องเดินไปด้านข้างอีกสิบสองฟุต
แล้วค่อยแลกเป็นเงิน
ลองนึกดูสิครับ
คุณจะรู้สึกแย่แค่ไหน ถ้าจิ๊กดินสอจากที่ทำงานกลับบ้าน
เปรียบเทียบกับ
การหยิบเงินสิบเซนต์จากกล่องใส่เงิน?
ความรู้สึกพวกนี้ต่างกันมาก
การเพิ่มขั้นตอนที่ทำให้คุณอยู่ห่างจากเงินสดไปอีกไม่กี่วินาที
โดยการได้รับชิปแทนนั้นมันมีผลอะไรไหม?
ปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองของเราโกหกเพิ่มเป็นสองเท่า
ผมจะบอกคุณว่าผมคิดยังไง
เกี่ยวกับเรื่องนี้และตลาดหุ้นในไม่กี่นาทีข้างหน้า
แต่นี่ก็ยังไม่ช่วยอธิบายเรื่องเอนรอนได้อยู่ดี
เพราะในเอนรอน มันมีประเด็นทางสังคมด้วย
คนเราสังเกตว่าคนอื่นทำอะไร
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกๆ วันเมื่อเราดูข่าว
เราเห็นตัวอย่างของคนที่โกง
แล้วมันมีผลอย่างไรกับเรา?
เราก็เลยลองทำการทดลองอีกแบบหนึ่ง
ให้นักเรียนกลุ่มใหญ่มาร่วมการทดลอง
และพวกเราก็จ่ายพวกเขาล่วงหน้า
ทุกๆ คนได้รับซองที่มีเงินทั้งหมดที่เขาจะได้จากการทดลอง
แล้วเราก็บอกพวกเขาในตอนท้ายว่า
ขอให้เขาจ่ายคืนเราเท่าจำนวนข้อที่เขาทำไม่ได้ ตกลงไหม?
ผลที่ได้ก็เหมือนเดิม
ถ้าเราให้โอกาสเขาโกง เขาก็โกง
พวกเขาโกงเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็โกงเหมือนกันหมด
แต่ว่าในการทดลองนี้ เราจ้างนักศึกษามาเป็นหน้าม้า
หน้าม้าของเรายืนขึ้นหลังจากสามสิบวินาที แล้วพูดว่า
"ผมทำได้ครบทุกข้อแล้ว ผมต้องทำอะไรต่อ?"
ผู้วิจัยก็จะพูดว่า "ถ้าคุณทำเสร็จแล้ว กลับบ้านได้เลย"
ก็เท่านั้น จบภารกิจ
ดังนั้น คราวนี้เรามีนักศึกษาหน้าม้า
เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือหน้าม้า
และเขาก็โกงกันเห็นๆ แบบที่ไม่น่ายอมรับได้
จะเกิดอะไรขึ้นกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม?
เขาจะโกงเพิ่มขึ้นหรือลดลง?
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
น่าสนใจมากครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า เขาใส่เสื้ออะไร
รายละเอียดเป็นอย่างนี้
เราทำการทดลองนี้ที่คาร์เนกี้ เมลลอน และพิตต์สเบอร์ก
ที่พิตต์สเบอร์กมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อยู่สองแห่ง
คือคาร์เนกี้ เมลลอน และพิตต์สเบอร์ก
เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคน
เป็นนักศึกษาของคาร์เนกี้ เมลลอน
ถ้าหน้าม้ายืนที่ขึ้นเป็นนักศึกษาของคาร์เนกี้ เมลลอน --
ซึ่งเขาก็เป็นนักศึกษาของคาร์เนกี้ เมลลอนจริงๆ --
เขาก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การโกงก็เลยเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าหน้าม้าใส่เสื้อพิตต์เบอร์ก
การโกงจะลดลง
(เสียงหัวเราะ)
เรื่องนี้สำคัญนะครับ
เพราะเมื่อนักศึกษาที่เป็นหน้าม้ายืนขึ้น
มันบอกกับทุกคนอย่างชัดเจนเลยว่าคุณสามารถโกงได้
เพราะผู้วิจัยบอกว่า
"คุณทำทุกอย่างเสร็จแล้ว กลับบ้านได้" และพวกเขาก็กลับไปพร้อมกับเงินที่โกง
มันไม่เกี่ยวกับโอกาสที่จะถูกจับได้แล้ว
แต่มันเป็นเรื่องบรรทัดฐานของการโกง
ถ้าบางคนในกลุ่มของพวกเราโกง และเราเห็นเขาโกง
เราจะรู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่กลุ่มเราทำได้
แต่ถ้าคนๆ นั้นมาจากกลุ่มอื่น บุคคลที่เลวร้ายพวกนี้ --
ผมไม่ได้หมายความว่าเขานิสัยเลวร้าย --
แต่หมายถึงบางคนที่เราไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เพราะเขามาจากมหาวิทยาลัยอื่น จากกลุ่มอื่น
คนก็ตระหนักเรื่องความซื่อสัตย์เพิ่มขึ้นทันที
คล้ายกับกรณีเรื่องบัญญัติสิบประการ
แล้วคนก็โกงน้อยลง
เอาล่ะ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการโกงจากเรื่องนี้?
เราเรียนรู้ว่าคนจำนวนมากโกง
โดยโกงเล็กๆ น้อยๆ
เมื่อพวกเราเตือนเขาเรื่องคุณธรรม เขาจะโกงน้อยลง
เมื่อการโกงนั้นทำกับวัตถุอื่นที่ไม่ใช่เงินโดยตรง
เช่น วัตถุที่ใช้แทนเงิน คนก็จะโกงมากขึ้นไปอีก
และเมื่อพวกเราเห็นการโกงรอบๆ ตัวเรา
โดยเฉพาะถ้าเป็นคนกลุ่มเดียวกับเรา การโกงก็จะมากขึ้น
ทีนี้ลองมาดูกรณีของตลาดหลักทรัพย์บ้าง
นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสร้างสถานการณ์ที่
คุณจ่ายเงินจำนวนมากให้ผู้คน
เพื่อให้เขามองเห็นความจริงในมุมที่บิดเบือนไป?
พวกเขาจะไม่รู้ไต๋คุณเหรอ?
แน่นอน เขาต้องรู้แน่
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราลองทำอีกแบบหนึ่ง
โดยไม่เอาสิ่งนั้นไปผูกกับเงิน?
คุณอาจเรียกมันว่าหุ้น ออพชั่น อนุพันธ์
หลักทรัพย์ที่มีทรัพย์สินจำนองหนุนหลัง
ถ้าเป็นอะไรที่ดูห่างไกลจากเงินออกไป
มันไม่ใช่ชิปที่แลกเป็นเงินได้ในหนึ่งวินาที
แต่เป็นสิ่งที่มีขั้นตอนจำนวนมากกว่าจะแปลงเป็นเงินได้
และใช้เวลานานด้วย -- คนจะโกงมากขึ้นไหม?
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
เมื่อเราเห็นคนอื่นๆ ทำแบบนั้น?
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันที่เลวร้าย
ในตลาดหลักทรัพย์
ในภาพกว้างกว่านั้น ผมอยากจะบอกคุณบางอย่าง
เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
เรามีความเชื่อลึกๆ มากมายที่มาจากสัญชาตญาณ
ประเด็นก็คือ ความเชื่อพวกนี้จำนวนมากมันผิด
คำถามก็คือ แล้วเราจะทดสอบความเชื่อนี้กันหรือไม่?
เราสามารถหาวิธีว่าจะทดสอบความเชื่อพวกนี้ได้อย่างไร
ในชีวิตส่วนตัว ในหน้าที่การงาน
และที่สำคัญที่สุด เมื่อมันกลายเป็นนโยบาย
อย่างนโนบาย "No Child Left Behind" (นโยบายการศึกษาของสหรัฐ)
เวลาคุณสร้างตลาดหลักทรัพย์ใหม่ สร้างนโยบายใหม่
ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี สุขภาพ และอื่นๆ
การทดสอบความเชื่อของตัวเองนั้นมันยากมาก
นั่นเป็นบทเรียนสำคัญที่ผมได้เรียนรู้
เมื่อผมกลับไปหาพยาบาลทั้งหลายที่เคยดูแลผม
ผมกลับไปเพื่อบอกเขา
ว่าผมมีข้อค้นพบบางอย่างเกี่ยวกับการดึงผ้าพันแผลออก
แล้วผมก็ได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจอยู่สองอย่าง
หนึ่งคือ พยาบาลที่น่ารักของผม เอตตี้
บอกผมว่า ผมไม่ได้เอาความเจ็บปวดของเธอเข้าไปวิเคราะห์ด้วย
เธอบอกว่า "แน่นอน อย่างที่คุณรู้ มันเจ็บสำหรับคุณ
แต่ลองมาเป็นพยาบาลสิ
ต้องพันแผลและดึงผ้าพันแผลออกให้คนมากมาย
แล้วก็ทำแต่แบบนี้ซ้ำๆ เป็นเวลานาน
การทำให้คนอื่นเจ็บปวดทรมานก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับฉันเหมือนกัน"
เธอบอกว่า บางทีส่วนหนึ่งก็เพราะมันยากเกินไปสำหรับเธอ
แต่มันน่าสนใจมากกว่า ตอนที่เธอบอกว่า
"ฉันคิดว่าความเชื่อของคุณไม่ถูก
ฉันรู้สึกว่าความเชื่อของฉันถูกแล้ว"
ดังนั้น ถ้าคุณลองนึกถึงความเชื่อทั้งหลายของคุณเอง
มันยากนะครับที่คุณจะเชื่อว่าความเชื่อของคุณผิด
แล้วเธอก็พูดว่า "และเพราะฉันเชื่อว่าความเชื่อของฉันถูก ..." --
คือ เธอคิดว่าเธอถูกนะครับ --
มันก็เลยยากมากสำหรับเธอที่จะยอมรับการทดลองที่โหดร้าย
เพื่อลองตรวจสอบว่าเธอผิดหรือเปล่า
ที่จริง เราทุกคนล้วนอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ตลอดเวลา
เรามีความเชื่อที่มั่นคงในทุกเรื่อง --
ความสามารถของเรา กลไกการทำงานของเศรษฐกิจ
เราควรจะจ่ายเงินเดือนครูอย่างไร
แต่ถ้าเราไม่ได้เริ่มทดสอบความเชื่อเหล่านั้น
เราก็จะไม่มีวันทำให้อะไรมันดีขึ้นได้
ลองนึกดูสิครับว่าชีวิตผมจะดีขึ้นขนาดไหน
ถ้าพยาบาลเหล่านี้ยอมตรวจสอบสิ่งที่เขาเชื่ออยู่
และทุกสิ่งจะดีขึ้นขนาดไหน
ถ้าเราเริ่มทำการทดลองอย่างเป็นระบบเพื่อตรวจสอบความเชื่อทั้งหลายของเรา
ขอบคุณมากครับ